ความเคลื่อนไหวในพื้นที่
| หมวด : ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ | เปิดอ่าน 5814 ครั้ง
เมื่อกลางปีที่แล้ว (2556) สำนักสนับสนุนปฏิบัติการพื้นที่ สช. ได้มีแผนในการทำเว็บไซต์สำหรับเป็นสื่อที่เปิดพื้นที่สาธารณะในลักษณะของสนับสนุนการทำงาน บอกเล่าข่าวสารความเคลื่อนไหวการทำงานของเครือข่ายสมัชชาสุขภาพพื้นที่ และเชิงประเด็นที่มีอยู่ 52 จังหวัดทั่วประเทศ
www.areahpp.net จึงเกิดขึ้น และค่อยๆ ก่อร่างสร้างรูปกันขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย ทีละข่าวทีละประเด็น ถือเป็นการเปิดหน้าการทำงานอย่างเงียบเชียบเรียบร้อย โดยคุณสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนปฏิบัติการพื้นที่ (สปพ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้อธิบายหมุดหมายของการเปิดเว็บไซต์ไว้ว่า เว็บไซต์นี้จะเป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับให้ภาคีเครือข่ายมาเป็นเจ้าของเว็บไซต์ โดยมีเราเป็นฝ่ายสนับสนุนการใช้งาน เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ มาใช้ค้นหากรณีศึกษา วิธีการปฏิบัติที่ดี รวมทั้งได้ใช้พื้นที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสารร่วมกัน ซึ่งมองภาพในอนาคตตไว้ว่าจะเกิดการรับ – ส่งข้อมูลข่าวสาร ที่แต่ละพื้นที่เอาเรื่องราวของตนเองออกมานำเสนอผ่านเว็บไซต์ “เราพบกันโดยไม่ต้องพบหน้า เว็บไซต์จะเป็นชุมทางเสนอแนะการทำงานร่วมกัน” เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยน สร้างเครือข่าย และยกระดับการพัฒนาร่วมกัน และที่สำคัญเครือข่ายต่างๆ จะสามารถใช้ช่องทางนี้สื่อสารกัน โดยที่ไม่ต้องผ่านสำนักเรา (สำนักสนับสนุนปฏิบัติการพื้นที่ สช.) ก็ได้ นี่ถือเป็นโอกาสสำคัญ
เมื่อเป็นเว็บไซต์ที่เปิดเป็นพื้นที่สื่อกลางของเครือข่าย ทีมงานผู้ร่วมก่อร่างเว็บไซต์จึงอยากรู้ความคาดหวังของผู้ที่เรียกได้ว่าจะเป็นเจ้าของ ผู้ที่เข้ามาใช้ มาขับเคลื่อนเว็บไซต์นี้ และหนึ่งในกลุ่มคนจากหลายจังหวัดนั้น เรา (ทีมงานเว็บไซต์) ได้รวบรวมความคาดหวังจากเครือข่ายนักสานพลัง รุ่นที่ 4 รวม 17 จังหวัดมาเรียงร้อยเพื่อถือเป็นธงในการดำเนินงานดังนี้
เริ่มต้นที่คำถามว่าทำอย่างไรให้เว็บไซต์นี้กลายเป็นสื่อสาธารณะ ซึ่งในความคาดหวังของใครอีกหลายคนได้เห็นตรงกัน และต้องการให้เว็บไซต์เป็นพื้นที่กลางในการสื่อสาร มีเนื้อหาสาระที่ดีมานำเสนอ โดยให้เว็บไซต์มิเพียงแต่ข่าวกิจกรรม แต่ให้มีชีวิต มีเรื่องเล่า มีข่าวสารความคืบหน้า (Progress) และข้อมูลใหม่ (Update) ที่ท่วงทันต่อสถานการณ์การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงอยากให้มีข้อมูลวิชาการเรื่องเครื่องมือสุขภาพ รายละเอียดที่ใช้ในกระบวนการสมัชชาสุขภาพ มีคู่มือ หลักเกณฑ์ แนวทางในการทำงาน และแบบประเมินต่างๆ พร้อมทั้งมีคอลัมน์เกี่ยวกับความรู้ด้านการขับเคลื่อน ปรัชญาทางสมัชชาสุขภาพ การถอดบทเรียน ชุดความรู้จากพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนกัน มีบทความหลักคิด บทกวี
นอกจากนี้อยากให้เว็บไซต์มีคลังข้อมูลสื่อวีดีโอบันทึกภาพสาระงานประชุมวิชาการ รวมถึงเอกสารความรู้ต่างๆ ในการประชุม ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ของมูลนิธิสัมมาชีพ (สมช.) www.right-livelihoods.org มีการเก็บข้อมูลของโครงการผู้นำ นำการเปลี่ยนแปลง ในลักษณะวีดีโอ และเอกสาร สามารถเปิดดูได้ แม้ไม่ได้เข้าร่วมอบรม และต้องการให้มีช่องทางในการประชุมออนไลน์ร่วมกันได้ผ่านเว็บไซต์ ในกรณีอยู่คนละพื้นที่ที่ไม่สะดวกในการเข้าร่วมการประชุมในพื้นที่เดียวกันได้ (Conference)
โดยรูปแบบการสื่อสารภายในเว็บไซต์ คาดหวังให้มีลักษณะเป็นสื่อของเครือข่าย ที่มีการสื่อสารระหว่างกัน (Interactive) สามารถสื่อสารสองทาง (Two Way Communication) ที่สามารถโต้ตอบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ นอกจากนี้มีปฏิสัมพันธ์ของเครือข่ายคนทำงานนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ (HPP) และนักสานพลัง และเปิดให้มีช่องทางสื่อสารผ่านเว็บบอร์ด
เนื่องจากการสอบถามความคาดหวังในครั้งนี้ เป็นการถามจากนักสานพลัง ดังนั้นนอกจากความคาดหวังโดยรวมแล้ว บางคนจึงคาดหวังให้เปิดพื้นที่ในเว็บไซต์ให้กับนักสานพลัง เพื่อต้องการให้นักสานพลังทุกคนได้ผลักเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาเขียนคอลัมน์ เรื่องเล่าเร้าพลังจากการปฏิบัติในพื้นที่ และมีข่าวประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่นักสานพลังควรรู้ รวมถึงข้อมูลของนักสานพลัง ข้อมูลความรู้ สาระที่วิทยากรได้พูด Power Point เอกสารสรุปในโปรแกรมการเรียนรู้ หรือในเวทีประชุมต่างๆ
ทั้งหมดนี้คือสรุปบันทึกความคาดหวังที่ได้จากนักสานพลังรุ่นที่ 4 ทีมงานเว็บไซต์ขอขอบคุณทุกท่านที่สละเวลาขีดเขียน แต่งแต้มความหวังที่ต้องการให้เกิดในเว็บไซต์ เพื่อเป็นข้อมูลให้พวกเราได้ใช้เป็นหลักในการเดินหน้าต่อ แต่เหนืออื่นใดนั้น หากพื้นที่นี้จะกลายเป็นคลังความรู้ พื้นที่สั่งสมประสบการณ์ เรื่องเล่าของการทำงานผ่านอุปสรรคน้อยใหญ่ ริ้วขบวนของผู้คนที่ออกมาขับเคลื่อนการทำงานเพื่อก่อร่างสร้างนโยบายสุขภาพระดับชาติจากฐานล่างในแต่ละพื้นที่ เก็บไว้ บันทึกไว้เพื่อส่งไม้ต่อให้นักสู้สุขภาพรุ่นถัดไป ได้รับช่วง แล้วก้าวเดินต่อจากทางที่คนก่อนหน้า ได้ร่วมกันถางมาแล้ว เพื่อไปสู่การพัฒนางานสุขภาพที่สามารถขับเคลื่อนงานให้รุดหน้าได้อย่างยั่งยืน
สำหรับคำถามว่าข้อมูลในพื้นที่แต่ละจังหวัดจะส่งเข้าเว็บไซต์ได้อย่างไรนั้น ในระยะยาวจะเปิดให้เครือข่ายร่วมกันบริหารจัดการเว็บไซต์นี้ตามความเหมาะสม แต่ในเบื้องต้น ช่วงก่อร่างเว็บไซต์ทุกท่านสามารถส่งข้อความ ข่าว บทความ ข้อมูล หรือเอกสารมาได้ที่ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. ทีมงานยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเปิดรับทุกข้อมูลด้วยความเต็มใจ