การจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน
| หมวด : นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ | เปิดอ่าน 6057 ครั้ง
ความเป็นมาและพัฒนาการของเขตสุขภาพเพื่อประชาชน
1.สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 เมื่อ 17 – 18 มิถุนายน 2557 ได้เห็นชอบมติที่ 6.8 เรื่องกับการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีสาระสำคัญประกอบด้วย
1.1 การปฏิรูประบบการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการจัดการภัยคุกคามสุขภาพ
1.2 การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ
1.3 การปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาบุคลากรสุขภาพ
1.4 การปฏิรูประบบการเงินการคลัง และระบบหลักประกันสุขภาพ
1.5 การปฏิรูปการอภิบาลระบบสุขภาพและการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ
2. ภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ได้มอบหมายให้ พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ดูแลงานด้านสังคมที่ครอบคลุมถึงด้านสุขภาพด้วย โดยมีมติจากที่ประชุม คสช. เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 “มอบหมายให้หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยานำเรื่องการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการระบบบริหารจัดการระบบสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขในภาพรวม เสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมที่จะตั้งขึ้นตามแนวทางการปฏิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในระยะที่ 2”
3. วันที่ 2 สิงหาคม 2557 ได้มีการประชุมหารือของผู้แทนหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงขององค์กรหลักด้านสุขภาพ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง เพื่อพิจารณานโยบายของ คสช. ดังกล่าวและเห็นร่วมกันว่า ควรจะพัฒนากลไกหรือเครื่องมือเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพในระยะต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ 6.8 เรื่อง ข้อเสนอการปฏิรูประบบสุขภาพ ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า มีประเด็นสำคัญที่ควรขับเคลื่อนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พิจารณาเสนอ คณะรักษาความสงบแห่งชาติให้ความเห็นชอบต่อไป ได้แก่
3.1 การปฏิรูประบบสุขภาพในระยะเร่งด่วน เสนอให้จัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพ ที่ยึดโยงการทำงานของหน่วยงานและองค์กรทุกภาคส่วน โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน
3.2 การปฏิรูประบบสุขภาพในระยะยาว เสนอให้นำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2556 มติ 8 เรื่อง “การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” เสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้ความเห็นชอบเพื่อเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
4. วันที่ 8 สิงหาคม 2557 ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2557 ได้มีมติเห็นชอบกับข้อเสนอประเด็นสำคัญที่ควรขับเคลื่อนเพื่อปฏิรูประบบสุขภาพทั้งในระยะเร่งด่วนและในระยะยาวข้างต้น และได้เสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ คสช.
5. วันที่ 25 สิงหาคม 2557 หัวหน้า คสช. (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้ลงนามอนุมัติการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน
6. วันที่ 29 สิงหาคม 2557 หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนารูปแบบเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ที่มีนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน เป็นกลไกพัฒนารูปแบบการจัดตั้งเขตสุขภาพฯ ที่เป็นรูปธรรมต่อไป
7. คณะทำงานฯ ได้จัดประชุมพัฒนาเอกสารรูปแบบการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการและจัดกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคี เครือข่ายและสาธารณะในหลายช่องทาง ได้แก่
- วันที่ 12 กันยายน 2557 เวทีพัฒนาร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อกำหนดเป็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 ณ โรงแรมปริ๊นส์พาเลซ กรุงเทพมหานคร
- วันที่ 4 ตุลาคม 2557 จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการของคณะทำงานฯ
- วันที่ 16 ตุลาคม 2557 เวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง รูปแบบการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เมื่อ ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี
- วันที่ 26 ธันวาคม 2557 เวทีรับฟังความคิดเห็นในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
- เผยแพร่เอกสารร่างรูปแบบการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน และรับฟังความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดียตลอดกระบวนการ รวมถึงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในระดับพื้นที่และภายในกลุ่มเครือข่ายต่างๆ
กลไกการดำเนินงาน
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนารูปแบบการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน มีนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นเลขานุการ ประกอบด้วยคณะทำงานจำนวน 20 คน มีบทบาทหน้าที่ในการจัดกระบวนการทางวิชาการและการมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ตามรายละเอียดคำสั่งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ 4/2557 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2557
รูปแบบการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน
ภาพรวมกลไกการบูรณาการการจัดการระบบสุขภาพโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน
• ระบบสุขภาพ หมายถึงระบบทั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ (สุขภาพทางกาย ใจ ปัญญา สังคมและการแพทย์และสาธารณสุข)
ระบบสุขภาพของประเทศไทย เป็นระบบพหุลักษณ์ มีหน่วยงาน องค์กรภาคีหลายภาคส่วนเข้าร่วมจัดการ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการบูรณาการการทำงานในทุกระดับ
• ในแผนภาพ
- กระทรวงสาธารณสุข เป็นกลไกหลักของรัฐ จัดการงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อสาธารณะ มีหน่วยงานครอบคลุมทั่วประเทศ จากส่วนกลางถึงตำบลหมู่บ้าน ใช้การอภิบาลระบบโดยรัฐ (governance by state) มีระบบและโครงสร้างดังภาพ
- สปสช. เป็นกลไกของรัฐในกำกับกระทรวงสาธารณสุข จัดการกองทุนเพื่อให้ประชาชนประมาณ 50 ล้านคน (ที่อยู่นอกระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ)ได้รับบริการการพแพทย์และสาธารณสุขที่จำเป็นโดยถ้วนหน้า ใช้การอภิบาลระบบโดยรัฐผสมเครือข่าย (governance by state and network)
- สถานพยาบาลสังกัดกระทรวง/หน่วยงานรัฐอื่น จัดการงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย,กระทรวงกลาโหม,กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองท้องถิ่นต่างๆ เพื่อบริการแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะและทั่วไป ใช้การอภิบาลโดยรัฐ(governance by state)
- โรงพยาบาลและสถานบริการสุขภาพเอกชน จัดการงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อประชาชน ใช้การอภิบาลระบบโดยตลาด (governance by market)
- สสส. เป็นกลไกอิสระของรัฐ จัดการงานเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทั้ง4มิติ ทั่วประเทศ ใช้การอภิบาลระบบโดยเครือข่าย(governance by network)
- สช. เป็นกลไกของรัฐในกำกับนายกรัฐมนตรี สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพทั้ง4มิติที่เน้นการมีส่วนร่วม ใช้การอภิบาลระบบโดยเครือข่าย(governance by network)
นอกจากนี้ ยังมีองค์กรวิชาชีพ วิชาการ ชุมชน ประชาสังคม องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) และเครือข่ายองค์กรภาคีต่างๆ มีส่วนร่วมจัดการในระบบสุขภาพระดับต่างๆตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละส่วนอีกเป็นจำนวนมาก
• ในเชิงพื้นที่
- ในระดับอำเภอ กำลังมีการพัฒนาระบบสุขภาพระดับอำเภอ(Integrated District Health System) เพื่อจัดการงานด้านสุขภาพแบบบูรณาการทั้ง4มิติ เน้นการมีส่วนร่วม โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน
- ในระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด มีความพยายามพัฒนากลไกเพื่อบูรณาการ/สนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ ได้แก่
- เขตบริหารและบริการวิชาการของกรมต่างๆในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
- เขตบริการสุขภาพภายในของกระทรวงสาธารณสุข
- เขตบริหารของ สปสช.
- เขตสุขภาพเพื่อประชาชน บูรณาการงานสุขภาพ 4 มิติของทุกภาคส่วน
- ในระดับประเทศ มีแนวคิดการพัฒนากลไกประสานและบูรณาการนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพระดับชาติ ที่เป็นการอภิบาลโดยเครือข่าย(governance by network) เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทาง บูรณาการนโยบายและยุทธศาสตร์และร่วมกันอำนวยการงานด้านสุขภาพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เสริมพลังกันและกันตามบทบาทหน้าที่ของตน