กระบวนการลูกขุนพลเมือง
| หมวด : ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ | เปิดอ่าน 1746 ครั้ง
กระบวนการลูกขุนพลเมือง (Citizen jury) เป็นกระบวนการรับฟังความเห็นรูปแบบใหม่ โดยโจทย์ที่ใช้ในการถกแถลงจะมีความจำเพาะเจาะจงกับประเด็นใดประเด็นหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งประเด็นนั้นๆ ควรจะเป็นประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งหรือเห็นต่างกันในสังคมค่อนข้างมาก และมีข้อแนะนำว่าจำนวนลูกขุนพลเมืองที่เหมาะสมควรมีจำนวนอยู่ระหว่าง ๑๒ – ๒๔ คน ซึ่งจะเน้นระยะเวลาในการมาอยู่ร่วมกันเพื่อถกแถลงต่อประเด็นนั้นๆ อย่างมีคุณภาพรอบคอบรอบด้านในช่วงเวลาประมาณ ๓-๕ วัน ดังรายละเอียด (เอกสารแนะนำกระบวนการลูกขุนพลเมือง และ วีดีโอแนะนำกระบวนการลูกขุนพลเมือง)
กระบวนการนี้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดกระบวนการ และมีสถาบันพระปกเกล้าทำการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Operational research) ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ได้ชุดความรู้ของการจัดกระบวนการลูกขุนพลเมือง และเพื่อศึกษาวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมในการนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ในกระบวนรับฟังความเห็นต่อนโยบายสาธารณะในประเทศไทย
เนื่องจากกระบวนการลูกขุนพลเมืองเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย และเป็นกระบวนการที่ สช. นำมาใช้ครั้งแรกในการรับฟังความเห็นต่อนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ จึงวางแผนว่าจะทดลองนำกระบวนการลูกขุนพลเมืองมาใช้ถกแถลงใน เรื่องการจัดระบบการดูแลระยะยาวในผู้สูงอายุ เนื่องจากสังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงควรมีการมุ่งเน้นเตรียมพร้อมในการกำหนดทิศทางด้านนโยบายในธรรมนูญสุขภาพเพื่อรับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น สช. จึงได้จัดเวทีลูกขุนพลเมืองเรื่องการจัดระบบการดูแลระยะยาวในผู้สูงอายุขึ้น เมื่อ ๗-๑๐ มกราคม ๒๕๕๘ มีคณะลูกขุนพลเมืองที่ได้รับการสุ่มตัวอย่างมาร่วมเวทีจำนวน ๑๒ คน อายุอยู่ระหว่าง ๓๕–๗๕ ปี คละเพศ อาชีพ และระดับการศึกษา โดยสุ่มตัวอย่างมาจากกรุงเทพมหานคร และอีก ๔ จังหวัด ได้แก่ ลำพูน ขอนแก่น สงขลา และชลบุรี ใช้โจทย์ในการถกแถลง ดังนี้
(๑) รูปแบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวของสังคมไทยในปัจจุบันควรจะคงอยู่หรือควรมีการเปลี่ยนแปลง อย่างไร
(๒) ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องภาระการดูแลผู้สูอายุระยะยาว: เจ้าภาพควรเป็นใคร (บริหารระบบและจัดระบบสนับสนุนต่างๆ) ภาครัฐ/ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/ ชุมชน/ ครอบครัว
(๓) ใครควรจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวอย่างยั่งยืน: ภาครัฐ/ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/ ชุมชน/ ครอบครัว
คณะลูกขุนพลเมืองได้รับฟังข้อมูลอย่างรอบด้านในช่วง ๓ วันแรก จากผู้ให้ข้อมูลหรือพยานจำนวน ๑๓ คน ซึ่งมีทั้งนักวิชาการและผู้ที่มีประสบการณ์จากการดูแลผู้สูงอายุ โดยคณะลูกขุนพลเมืองสามารถซักถามและหารือพูดคุยเพื่อทำความเข้าจากพยานได้อย่างเต็มที่ และมีผู้ดำเนินรายการช่วยสรุปข้อมูลที่ได้รับจากพยานในทุกๆ ช่วงของการนำเสนอข้อมูล ผู้ดำเนินรายการชวนคณะลูกขุนพลเมืองให้คิดและถกแถลงในแง่มุมต่างๆ เพื่อนำไปสู่การตอบโจทย์ จนกระทั่งในวันสุดท้ายคณะลูกขุนพลเมืองได้มีการถกแถลงและได้ข้อสรุปร่วมกัน โดยได้จัดทำเป็นแถลงการณ์หรือผลการตัดสินใจเรื่องระบบการดูแลระยะยาวในผู้สูงอายุของประเทศไทยออกมา คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียด
Related items
- ธรรมนูญระบบสุขภาพ สู่ยุคประเทศไทย 4.0
-
ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2
-
รายงานการประชุมคณะกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ ครั้งที่ ๕/๒๕๕๘
-
รายงานการประชุมคณะกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ ครั้งที่ ๔/๒๕๕๘
-
รายงานการประชุมคณะกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ ครั้งที่ ๓/๒๕๕๘