กระบวนการประชาเสวนาหาทางออก
| หมวด : ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ | เปิดอ่าน 1731 ครั้ง
กระบวนการประชาเสวนาหาทางออก (Public deliberation) เป็นกระบวนการรับฟังความเห็นต่อ “ภาพอนาคตของระบบสุขภาพไทย” ในภาพรวม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการทบทวนธรรมนูญฯ ในส่วนของปรัชญาแนวคิดหลักของระบบสุขภาพ คุณลักษณะที่พึงประสงค์และเป้าหมายของระบบสุขภาพ รวมถึงเรื่องหลักประกันและความคุ้มครองให้เกิดสุขภาพ ซึ่งเป็นสาระที่อยู่ใน หมวด ๑ - หมวด ๓ ของธรรมนูญฯ
กระบวนการนี้ สถาบันพระปกเกล้าเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในการดำเนินการ โดยใช้โจทย์ต่อไปนี้ในการรับฟังความเห็น
๑. ต้องการเห็นภาพอนาคตระบบสุขภาพไทยเป็นแบบไหน
๒. ทำไมจึงอยากให้เป็นเช่นนั้น
๓. ใครควรจะเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง
๔. ทำอย่างไรจึงจะไปถึงภาพนั้นได้
ที่ผ่านมาได้ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความเห็นในระดับภาคไปแล้วรวม ๔ เวที ดังนี้
เวทีที่ ๑: วันที่ ๑๙ – ๒๐ ม.ค. ๕๘ เวทีภาคกลาง (สุ่มตัวอย่างประชากรจาก ๔ จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และสุพรรณบุรี)
เวทีที่ ๒: วันที่ ๒๒ – ๒๓ ม.ค. ๕๘ เวทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สุ่มตัวอย่างประชากรจาก ๔ จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร)
เวทีที่ ๓: วันที่ ๒๖ – ๒๗ ม.ค. ๕๘ เวทีภาคเหนือ (สุ่มตัวอย่างประชากรจาก ๔ จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร อุทัยธานี และพิจิตร)
เวทีที่ ๔: วันที่ ๓๑ ม.ค. – ๒ ก.พ. ๕๘ เวทีภาคใต้ (สุ่มตัวอย่างประชากรจาก ๔ จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง)
มีจำนวนผู้เข้าร่วมเสวนาเวทีละ ๑๐๐ คน มาจากการสุ่มตัวอย่างประชากรทั่วไปจำนวน ๘๕ คน และสุ่มจากกลุ่มประชากรเฉพาะ (กลุ่มผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์/คนไร้รัฐ และกลุ่มผู้แทนศาสนา) อีก ๑๕ คน เพื่อให้ได้ฉันทมติภาพอนาคตระบบสุขภาพในระดับภาค
จากนั้น ได้คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยความสมัครใจจากเวทีภาค ภาคละ ๒๕ คน มาร่วมเวทีประชาเสวนากลาง ในวันที่ ๑๖ – ๑๗ ก.พ. ๕๘ เพื่อหาฉันทมติระดับประเทศในเรื่องภาพอนาคตระบบสุขภาพไทยที่พึงประสงค์
ทั้งนี้ สช. ได้จัดทำข้อมูลสถานการณ์ระบบสุขภาพไทยในปัจจุบัน และคาดการณ์ภาพอนาคตระบบสุขภาพไทย สำหรับนำเสนอในเวทีประชาเสวนา เพื่อให้ผู้เข้าเสวนามองระบบสุขภาพในมิติที่กว้างกว่าเฉพาะเรื่องของการแพทย์การสาธารณสุข รวมถึงให้เห็นการคาดการณ์ภาพอนาคตของระบบสุขภาพไทยเพื่อกระตุกความคิดของผู้เข้าเสวนาให้ตระหนักถึงบทบาทของตนในฐานะพลเมืองไทยและภาคส่วนต่างๆ ในสังคมในการเข้ามาร่วมมือกันเพื่อมุ่งสู่ระบบสุขภาพไทยที่พึงประสงค์ในอนาคต
Related items
- ธรรมนูญระบบสุขภาพ สู่ยุคประเทศไทย 4.0
-
ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2
-
รายงานการประชุมคณะกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ ครั้งที่ ๕/๒๕๕๘
-
รายงานการประชุมคณะกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ ครั้งที่ ๔/๒๕๕๘
-
รายงานการประชุมคณะกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ ครั้งที่ ๓/๒๕๕๘